หากพูดถึงการบันทึก รายรับรายจ่าย หลายคนคงมีแอปพลิเคชันที่สะดวกและใช้งานง่ายอยู่ในใจ แต่ก่อนที่จะเริ่มมาบันทึกได้อย่างสม่ำเสมอทุกวี่วันนั้น น่าจะมีความอยากรู้สงสัยในนิสัยการใช้จ่ายของตัวเอง หรือ อยากรู้ว่าเงินหายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อาจพบคำตอบได้ในบันทึกรายรับรายจ่ายของตัวเอง ซึ่งถ้าสามารถตัดค่าใช้จ่ายบางรายการออกไปได้ยิ่งเสริมให้เข้าใกล้เป้าหมายในการออมมากยิ่งขึ้น และด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างใกล้ตัวแอดมินมากๆ ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเปิดมุมมองของการจดบันทึกรายรับรายจ่าย ไม่แน่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครหลายๆ คนหันมาใส่ใจและไม่พลาดเรื่องการวางแผนทางการเงินเพื่อประสบความสำเร็จตามเป้าหมายชีวิตของตัวเองที่วาดฝันไว้

 

 

[แชร์ประสบการณ์] คุณสุธิดา สินเพ็ง ส่วนสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์

 

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการจดบันทึกรายรับรายจ่าย

เริ่มจดบันทึก รายรับรายจ่าย ตั้งแต่ได้เข้ารับการอบรมโครงการ KTBGS Happy Money ของบริษัท ด้วยที่วิทยากรได้สอนให้รู้จักประเมินสถานะตัวเองจากเส้นระยะเวลาการหาเงินกับจำนวนเงินที่อยากใช้ในช่วงหลังเกษียณอายุ (สามารถอ่านเพิ่มเติมวิธีการทำไทม์ไลน์ชีวิตของตัวเอง ได้ที่>>คุณเหลือเวลาทำงานอีกกี่ปี แล้วตอนนี้คุณมีเงินในบัญชีเท่าไหร่) ซึ่งจากตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นให้อยากรู้ว่าในแต่ละเดือนนั้น เงินเราหายไปไหน และความสามารถในการเก็บเงินแบบสบายๆ ไม่บีบรัดตัวเองควรเป็นกี่บาทต่อเดือน ทำให้มองหาแอพพลิเคชั่นในการจดบันทึก รายรับรายจ่าย ที่ใช้งานง่ายสำหรับตัวเอง มีหมวดหมู่แบ่งแยกรายได้ รายจ่าย หรือดูภาพรวมการใช้จ่ายรายเดือน รายปี ก็ทำได้ไม่ยาก ซึ่งปัจจุบันมีมากมายให้เลือกค่ะ

 

 

มีวิธีอุดรอยรั่วทางการเงินของคุณยังไง

ประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มรู้แล้วว่าค่าใช้จ่ายส่วนมากของฝนหมดไปกับค่ากาแฟและคาเฟ่ ซึ่งยอมรับว่าช่วงนั้นเราชอบที่จะออกไปหาร้านอาหารอร่อยๆ กินเพื่อชดเชยกับความเหนื่อยล้าในระหว่างสัปดาห์ของการทำงาน แต่พอมาช่วงหลังๆ พยายามเปลี่ยนจากการซื้อเป็นชงดื่มเอง คือ ไม่ได้เลิกกิน แต่ไม่ติดแบรนด์ หรือพยายามหาร้านที่มีโปรโมชันลดราคา เมื่อลดค่ากาแฟลงได้ เงินที่ประหยัดได้จากการลด ละ ทำให้มีเงินเหลือไปออมหรือลงทุน เพิ่มผลตอบแทนได้อีก

 

 

รายรับรายจ่าย

 

 

สุดท้ายแล้วให้ฝากข้อความถึงผู้อ่านกันหน่อย

อยากให้ทุกคนที่ได้มาอ่านมีวินัยทางการเงิน อย่างน้อยรู้จักการใช้จ่ายเงินของตัวเอง จะได้ไม่ประมาท ไม่แน่ว่าเงินเก็บของตัวเองในวันนี้ อาจจะเป็นทุนให้เราในยามฉุกเฉินก็เป็นได้ค่ะ และสำหรับการจดบันทึก รายรับรายจ่าย ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับทุกคนเลย จะทำก่อนนอนหรือตั้งเวลาเตือนในทุกๆ วันก็ได้เช่นกัน เพียงแค่คิดทบทวนการใช้จ่ายของตัวเอง แล้วบันทึกทุกการใช้จ่ายลงไป เท่านี้เราก็จะรู้แล้วว่า เงินในกระเป๋าหายไปไหนค่ะ

 

 

[แชร์ประสบการณ์] คุณกุลนารี ฟูเกียรติ ส่วนสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์

 

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการจดบันทึกรายรับรายจ่าย

ด้วยที่อันนาเป็นคนชอบอ่านและสะสมหนังสือเป็นงานอดิเรก จึงอยากรู้ว่าในแต่ละเดือนเราซื้อหนังสือไปกี่บาท แล้วไหนๆ ก็บันทึกแล้ว เลยทำให้บันทึกการใช้จ่ายอื่นๆ ลงไปด้วย ซึ่งทำให้เห็น ว่าแม้จะมีเงินพิเศษในบางเดือนแต่ก็ไม่เหลือเก็บเลยสักบาท แม้ตอนนี้จะพึ่งเริ่มทำงานมาไม่กี่ปี แต่ชีวิตต้องโตขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากมีเงินเหลือเก็บไว้และไม่ต้องขอพ่อแม่ใช้ บวกกับในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นความสำคัญของเงินเก็บ และ การบริหารจัดการรายรับรายจ่ายมากพอสมควร

 

 

มีวิธีอุดรอยรั่วทางการเงินของคุณยังไง

เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช้เงินสด สะดวกโอนผ่านธนาคาร ซื้อของหักบัตรเครดิตออนไลน์ จึงลองศึกษาหาวิธีเก็บเงินที่ไม่ต้องมาหยอดกระปุกแต่ได้ดอกเบี้ยสูงตามนิสัยการใช้เงินของตัวเอง ประกอบกับตอนนี้ไม่ได้มีความจำเป็นใช้เงิน จึงคิดว่าวิธีที่เหมาะกับตัวเองที่สุดคือ การฝากประจำปลอดภาษี โดยทุกสิ้นเดือนจะโอนเงินฝากเข้าบัญชี คิดซะว่า “เปลี่ยนการเก็บเงินมาเป็นรายจ่ายของเรา” ในเมื่อเก็บเงินแบบคนอื่นไม่ได้ เลยขอเพิ่มอีกหนึ่งรายจ่ายเป็นการฝากธนาคารแบบประจำแทนไปแล้วกัน

 

 

รายรับรายจ่าย

 

 

สุดท้ายแล้วให้ฝากข้อความถึงผู้อ่านกันหน่อย

ความรู้สึก “อยาก” กับ “ลงมือทำ” มันแยกกัน ลองหาวิธีการเก็บเงินที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ตัวเองดู เริ่มก่อนมีเงินเก็บก่อน และอย่าคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก จะรีบเก็บเงินไปทำไม จริงๆ ในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน อย่างน้อยก็เก็บเงินไว้ซื้อความสุขให้ตัวเองและคนรอบข้างได้ค่ะ 🙂

 

 

จากการแชร์ประสบการณ์มานั้น ทำให้รู้ว่า…ยังมีอีกหลายวิธีที่จะพาเราไปให้ถึงฝัน วิธีการเก็บเงินมีมากมายก็จริง แต่ควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง

แล้วอย่าปล่อยให้วัน เดือน ปี ผ่านไปแบบไม่เก็บดอกออกผล เพราะไม่ใช่แค่คำว่าสาย แต่อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ช้าเกินไป

 

ขอบคุณเวกเตอร์: freepix.com