เริ่มต้นปีใหม่แล้วผู้ที่มีรายได้ต่างรู้ว่าเข้าสู่ช่วงฤดูของการ ยื่นภาษี ซึ่งในปี 2565 นี้ทางกรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงหน้าตา เมนูการยื่นภาษีทางเว็บไซต์สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2564 ในระบบ E-Filing แบบใหม่ ซึ่งจากที่อ่านรีวิวสอนวิธีการใช้งานมาหลายแหล่งแล้วนั้น แอดมินขอแบ่งปันสรุปขั้นตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงเมนูหลักๆ พร้อมวิธีการยื่นภาษีเงินได้(ภ.ง.ด. 90/91) แบบออนไลน์ด้วยตัวเอง ฉบับมนุษย์เงินเดือนรายได้ทางเดียวให้ลองนำไปเป็นแนวทางได้ประยุกต์ใช้กับรายได้ของตัวเองที่ต้องยื่นแสดงรายการให้กับกรมสรรพากรในปี 2565 นี้ ซึ่ง ณ วันที่เขียนนี้ได้กำหนดให้ยื่นภาษีได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 แต่ทั้งนี้แอดมินก็ตอบไม่ได้ว่าจะมีการขยายเวลาการยื่นต่อไปอีกหรือไม่ ต้องคอยติดตามข่าวสารกันที่ช่องทาง เว็บไซต์กรมสรรพากร
KTBGS มีข่าวดี!! เปิดรับสมัครพนักงานจำนวนมาก
เช่น งานทำความสะอาด , งานรักษาความปลอดภัย , งานขับรถ , งาน Call Center
ในการกรอกข้อมูลยื่นภาษีออนไลน์นั้น แนะนำให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการยื่นภาษีน่าจะสะดวกในการอ่าน/ตรวจสอบข้อมูล ส่วนเอกสารประกอบหลักๆ ที่ควรเตรียมนั้น เช่น
- หนังสือรับรองการหักเสียภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
- เอกสารที่ใช้ลดหย่อนตัวเองและลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น บิดามารดาอายุ 60 ปีขึ้นไปและรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ให้ใช้เลขบัตรประชาชนบิดามารดา, ใบเสร็จเบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ/สะสมทรัพย์, กองทุน RMF SSF และเงินบริจาคต่างๆ
ขั้นตอนที่ 1 : เข้าเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/
ที่มารูป: https://efiling.rd.go.th
หากไม่เคยเป็นสมาชิกมาก่อน คลิก สมัครสมาชิก แล้วกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน, หมายเลขโทรศัพท์มือถือ, และตั้งรหัสผ่าน เท่านี้ก็เป็นสมาชิกแล้ว
(ใหม่) หลังจากเข้าสู่ระบบ ทางกรมสรรพากรเพิ่มความปลอดภัยด้วยการใช้ระบบ OTP (One Time Password) เพื่อยกระดับยืนยันตัวตน ป้องกันการทุจริต ส่งเข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียน จากนั้นยืนยันเลขที่ได้รับอีกครั้ง
ที่มารูป: คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.90/91 ปีภาษี2564
หลังจากนั้นจะขึ้นหน้าจอสำหรับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91 คลิก ยื่นแบบ
(ใหม่) สังเกตได้ว่าระบบ E-Filing แบบใหม่ มีการแยกการอัปโหลดไฟล์เพื่อขจัดปัญหาการค้างระหว่างทำรายการได้ซึ่งต่างจากระบบเก่าที่ต้องอัปโหลดไฟล์เอกสารตอนกรอกตัวเลขเลย
ที่มารูป: คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.90/91 ปีภาษี2564
ขั้นตอนที่ 2 : กรอกข้อมูลผู้มีเงินได้
ให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวที่ระบบดึงมาแสดงผล หากมีเปลี่ยนแปลงให้คลิก แก้ไข จากนั้นให้เลือกสถานะภาพของตัวเองในปี 2564
(ใหม่) ระบบ E-Filing แบบใหม่ เพิ่มสถานะ “กรณีที่ผู้มีเงินได้เสียชีวิตระหว่างปี 2564” ซึ่งให้ญาติผู้เสียชีวิตสามารถยื่นฯ แทนได้
ที่มารูป: คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.90/91 ปีภาษี2564
หมายเหตุ หากมีการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มีเงินได้ และ คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ระบบจะตรวจสอบกับฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทยด้วย
ที่มารูป: คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.90/91 ปีภาษี2564
ขั้นตอนที่ 3 : กรอกเงินได้
ต้องรู้ว่าแหล่งเงินได้ในปี 2564 มาจากทางไหนบ้าง เพื่อเลือกลงแต่ละประเภทให้ถูกต้อง
(ใหม่) มีการจัดประเภทเงินได้ให้เข้าใจง่ายขึ้น พร้อมคำอธิบายแนะนำในไอคอนคำถาม (?) มีทั้งหมด 5 ประเภท
- รายได้จากเงินเดือน
- รายได้จากฟรีแลนซ์, รับจ้างทั่วไป, วิชาชีพอิสระ
- รายได้จากทรัพย์สิน, การทำธุรกิจ
- รายได้จากการลงทุน
- รายได้จากมรดกหรือได้รับมา
ที่มารูป: คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.90/91 ปีภาษี2564
ขอยกตัวย่างฉบับมนุษย์เงินเดือนรายได้ทางเดียว มาตรา40(1) คลิก ระบุข้อมูล ในประเภทรายได้จากเงินเดือน
ที่มารูป: https://efiling.rd.go.th
แนะนำ กรณีมีเงินได้จากหลายที่ให้บวกเงินได้ / ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทั้งหมด ส่วนเลขผู้จ่ายเงินได้ ให้ใช้บริษัทที่จ่ายเงินได้มากที่สุด
ขั้นตอนที่ 4 : กรอกค่าลดหย่อน
ข้อระวังต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนนั้นๆ ได้จริง หรือเข้าไปดูรายการลดหย่อนว่ามีอะไรบ้างได้ที่ https://www.moneybuffalo.in.th/tax/what-are-the-2021-tax-deductions
- กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
เช่น บุตร, อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี, เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา, อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ - กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น ด้านการออมและการลงทุน
เช่น เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, เงินสมทบกองทุนประกันสังคม, เบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ/ชีวิตแบบบำนาญ, RMF, SSF - กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ
เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่า หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย, เงินบริจาคพรรคการเมือง, ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต, ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร - กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค เช่น เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาด/อื่นๆ, เงินบริจาคการกุศลสาธารณะ
- ภาษีที่ได้ชำระไว้แล้ว
แนะนำ เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาด/อื่นๆ ให้กรอกตัวเลขเงินที่บริจาคจริง ซึ่งในหน้าสรุประบบ E-Filing จะคิดลดหย่อนให้เป็นสองเท่าอัตโนมัติ
แนะนำ เบี้ยประกันชีวิต กับ เบี้ยประกันสุขภาพ หากเรากรอกตัวเลขไปเกิน 1 แสน ระบบ E-Filing จะไม่ฟ้องไม่เด้ง แต่!! ในหน้าสรุปนั้นระบบจะเปลี่ยนให้เหลือ 100,000 บาทตามเงื่อนไขลดหย่อนภาษี
ที่มารูป: คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.90/91 ปีภาษี2564
ที่มารูป: คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการ ภงด.90/91 ปีภาษี2564
ขั้นตอนที่ 5 : ตรวจสอบข้อมูล
เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากหากตรวจสอบไม่ละเอียดชีวิตเปลี่ยนได้เลย ขอให้เพื่อนๆ ตรวจสอบยอดตัวเลขทุกรายการอย่างละเอียดถี่ถ้วนถ้าแน่ใจแล้วคลิก ถัดไป
ถ้ามียอดภาษีชำระไว้เกิน สามารถขอคืนเงินภาษี หรือ อุดหนุนภาษีให้แก่พรรคการเมือง ก็สามารถเลือกตามต้องการได้เลย
แต่ถ้ามียอดที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม แล้วภาษีจำนวน 3,000 บาทขึ้นไป กรมสรรพากรใจดีมีให้ผ่อนชำระภาษี 3 งวด งวดละเท่าๆ ซึ่งระบบจะคำนวณให้อัตโนมัติ
- ผ่อนชำระภาษีงวดที่ 1 ชำระภายในวันที่ 8 เมษายน 2565
- ผ่อนชำระภาษีงวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565
- ผ่อนชำระภาษีงวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565
ซึ่งจะมีรายละเอียดข้อตกลงขอชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจ้งให้ทราบเมื่อคลิกผ่อนชำระ เพื่อนๆ ก็ควรที่จะอ่านให้ละเอียดทุกบรรทัดก่อนกด ยอมรับ
ขั้นตอนที่ 6 : ยืนยันการยื่นแบบ
ระบบจะแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 หน้าตาเหมือนแบบฟอร์มการยื่นภาษีที่มีช่องเล็กๆ หยิบย่อยไปหมด โดยสรุปข้อมูลที่เรากรอกไปตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่ตัวอักษรจะเล็ก ซึ่งแอดมินแนะนำให้ตรวจดูในขั้นตอนก่อนหน้านั้นสบายตากว่าเยอะ ถ้าไม่มีแก้ไขข้อมูลคลิก ยืนยันการยื่นแบบ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
จากที่แอดมินได้ศึกษาและทดลองมานั้น บอกได้เลยว่าการปรับปรุงหน้าตาระบบ E-Filing แบบใหม่ ใช้งานได้ง่ายขึ้น การแบ่งแยกหมวดหมู่รายได้หรือรายการลดหย่อนภาษีไม่ซับซ้อน มือใหม่ยื่นภาษีก็สามารถทำได้ มีคำอธิบายหากไม่เข้าใจวิธีการคำนวณขั้นตอนไหนสามารถกดสัญลักษณ์ (?) และที่แอดมินชอบคือในระหว่างกรอกข้อมูลแต่ละขั้นตอนมีปุ่ม บันทึก ซึ่งทำให้หายห่วงในเรื่องการหมดเวลาในการกรอกได้เลย 🙂
อ้างอิงข้อมูล
https://efiling.rd.go.th/rd-cms
คู่มือผู้ใช้งานการยื่นแบบแสดงรายการภาษีภ.ง.ด.90/91 ปี2564 ออนไลน์ผ่าน E-Filing
Youtube: TAXBugnoms