หลังจากที่ไทยได้มีการเพิ่มบริการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มไม่มีอาการ/ไม่มีความเสี่ยง ให้สามารถเข้ารักษาแบบผู้ป่วยนอก (Out-Patient-Department : OPD) ตามนโยบายของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือหลายคนอาจเคยได้ยินในชื่อว่า “เจอ แจก จบ” โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นความพยายามปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการระบาดของโอมิครอนที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงแต่อาการโดยรวมไม่หนักมาก ซึ่งโครงการนี้เป็นการให้บริการเสริม ไม่ได้บังคับ ระบบเดิมยังมีอยู่ แต่จัดบริการแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นมาเพื่อสะดวกต่อการมารับบริการ
ถ้าพูดถึงการรักษาแบบผู้ป่วยนอกนั้น ลองนึกถึงตอนที่เจ็บป่วย ปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งจะไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมีอยู่ หลังจากได้พบแพทย์จะวินิจฉัยโรค หากอาการไม่หนักจะจ่ายยาและคำแนะนำเพื่อให้มารักษาตัวที่บ้าน แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ความดันต่ำ ไข้สูง หรือมีภาวะเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต แพทย์จะดำเนินการรับเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน หรือเรียกว่าแอดมิท ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่จำเป็นที่คนไข้ทุกรายต้องแอดมิท ทั้งนี้แพทย์จะทำการพิจารณาความรุนแรงของโรคและติดตามอาการ
อ่านเพิ่มเติมเว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อสงสัยว่ามีความเสี่ยงจะติดเชื้อ หากผลตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วพบว่ามีผลตรวจเป็นบวก อาการไม่หนักสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ใช้โรงพยาบาลตามสิทธิของตัวเองและแยกกักตัวที่บ้าน หรือสามารถโทร 1330 ซึ่ง สปสช.จะมีการเพิ่ม Robot Screening ช่วยคัดกรอง หรือเข้ารับการรักษาที่คลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) ที่มีในทุกโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาใช้ยา 3 สูตร ดังนี้
- ยารักษาไวรัสโดยตรง คือ ฟาวิพิราเวียร์
- ฟ้าทะลายโจร
- ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ
หมายเหตุ การให้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ที่จะพิจารณาว่า จะให้ยาแบบใดซึ่งต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ก่อน
การรักษาตัวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระบบผู้ป่วยนอก(OPD) จะต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ (เท่ากับระยะแพร่เชื้อ) คล้ายกับการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation-HI) แต่จะไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิณ(เครื่องวัดออกซิเจน/ เครื่องวัดอุณหภูมิ) ไม่มีอาหารให้ และโทรติดตามอาการครั้งเดียวเมื่อครบ 48 ชั่วโมง แต่จะมีช่องทางให้ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ และมีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง
อ่านเพิ่มเติมเว็บไซต์ โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็อยากรู้ว่าการรักษาจริงเป็นอย่างไร ?
แอดมินขอแชร์ประสบการณ์จากคนรู้จักที่ติดโควิด-19 อยู่ในกลุ่มสีเขียวอาการไม่หนัก เมื่อรู้สึกว่าร่างกายมีอาการป่วย ไอ มีไข้ จึงได้ใช้ชุดตรวจ ATK ตรวจ ผลเป็นบวกเลยรีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์ตอนนั้นต้องตรวจ RT-PCR ด้วย และหลังจากทราบผลว่าติดเชื้อ แพทย์ได้วินิจฉัยโดยให้ยาฟาวิพิราเวียร์ และกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยได้สอบถามความพร้อมของคนไข้ในการกักตัวที่บ้านก่อน ซึ่งหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลโทรสอบถามอาการคนไข้ทุกวัน
แอดมินคิดว่าการให้บริการไม่ว่าจะเป็นยารักษา, อุปกรณ์ตรวจประเมินอย่างเครื่องวัดออกซิเจน/ ปรอทวัดอุณหภูมิ หรือการส่งอาหารนั้น จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความพร้อมและการวินิจฉัยของแพทย์แต่ละโรงพยาบาลด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันโควิดด้วยการฉีดวัคซีนก็เป็นอีกทางที่ช่วยลดความเสี่ยง แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ดีกว่าถ้าเป็นแล้วร่างกายไม่มีอะไรรับมือเลย
อ้างอิงข้อมูล
สธ. เพิ่มบริการรักษาโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอก สำหรับกลุ่มไม่มีอาการ/ไม่มีความเสี่ยง
อัพเดท 1 มี.ค.65 แนวปฏิบัติของประชาชนเมื่อสงสัยว่าติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร ?
ข่าว-คมชัดลึก “เจอแจกจบ” เช็คยา 3 สูตรรักษา “โควิด” พร้อมแจกผู้ป่วยแบบ OPD 1 มี.ค.นี้
BBC News เจอ แจก จบ โควิด: ติดเชื้อไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก ระบบใหม่ดูแลผู้ป่วย
โรงพยาบาลศิครินทร์: ผู้ป่วยโควิด เมื่อต้อง home Isolation
Youtube: เรื่องเล่าเช้านี้